วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

บันทึกการเรียนครั้งที่ 15 
วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2557 

วันนี้อาจารย์สรุปองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมด พร้อมเเจกของรางวัลสำหรับเพื่อนๆที่ตั้งใจเรียนมีคะเเนนดี พร้อมประเมินความรู้สึกหลังเรียนสิ่งที่ชอบเเละไม่ชอบ 
สรุปองค์ความรู้จากที่ได้เรียนมา ดังนี้
เด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Children with Special Needs) หมายถึง ผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเนื่องด้วยการขาดความสามารถ (Disability) ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ความต้อง การพิเศษ (Special Needs) เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการวินิจฉัยอาการทางคลินิก (Clinical diagnostic) และพัฒนาการทาง ด้านสมรรถภาพของร่ายกาย (Functional development) นอกจากนี้ ในประเทศอังกฤษ ความต้องการพิเศษมักเชื่อมโยงกับแวดวงการศึกษา โดยหมายถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางด้านการศึกษา (Special Educational Needs:SEN)
ประเภทของความต้องการพิเศษมีความหลากหลายและอาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ที่เป็นโรคออทิซึม (Autism) กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) ความบกพร่องในการอ่าน (Dyslexia) ความบกพร่องทางการมองเห็น (Blindness) โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคซีสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) เหล่านี้ ล้วนได้รับการพิจารณาว่ามีความต้องการพิเศษ อย่างไรก็ตาม ลักษณะของความต้องการพิเศษก็อาจครอบคลุมถึงโรคปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lips and cleft palate) ปานแดงแต่กำเนิด (Port wine birthmarks) และแขนหรือขาด้วน (missing limbs)
สาเหตุ
  • ปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อนคลอด ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ การกระทบกระเทือนต่อมดลูกของแม่ อาจส่งผลเสียหายต่อตัวทารกได้ หากแม่ติดเชื้อหรือได้รับเชื้อโรคใดๆ ลูกในครรภ์ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ แม่ที่เจ็บป่วยจากการขาดแคลนสารอาหารย่อมทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และส่งผลให้ลูกมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา
  • ปัจจัยที่เกิดขึ้นในระหว่างคลอด ในขั้นตอนของการคลอด มีหลายปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเด็ก การคลอดที่เป็นไปอย่างยากลำบาก อาจทำให้เด็กขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองชั่วคราว อันส่งผลให้เนื้อเยื่อประสาทของสมองและกระดูกสันหลังบางส่วนถูกทำลาย ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต โดยอาจทำให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาและมีความพิการทางร่างกาย นอกจากนี้ หากแพทย์ใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อช่วยทำคลอด เช่น ใช้คีมในการดึงเด็กออกมา แต่ขาดทักษะหรือมีความผิดพลาดเกิดขึ้น สมองและประสาทของเด็กก็อาจถูกคีมกดและถูกทำให้เสียหายได้ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มักจะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต
  • ปัจจัยที่เกิดขึ้นหลังคลอด เด็กที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมหลังคลอด มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะไร้ความสามารถ เช่น หากดวงตาของทารกไม่ได้รับการล้างด้วยสารละลายไนเตรต 1 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจส่งผลให้เด็กสูญเสียการมองเห็นได้
  • การขาดสารอาหาร (Malnutrition) เด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ จะมีความอ่อนแอทางร่างกาย
    • การขาดแคลเซียมอาจนำไปสู่ลักษณะความผิดปกติของกระดูก
    • การขาดไอโอดีนอาจนำไปสู่การขาดฮอร์โมนไทรอกซินซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
    • การขาดวิตามินเออาจนำไปสู่ความบกพร่องทางการมองเห็น
    • ขณะที่การขาดโปรตีนและสารอาหารที่ให้พลังงาน อาจนำไปสู่ความบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญา
  • อุบัติเหตุ ซึ่งอาจรุนแรงสามารถเปลี่ยนเด็กปกติไปสู่เด็กพิการได้ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ อาจทำให้เด็กมีร่างกายพิ การ รวมถึงตาบอด หูหนวก และเป็นใบ้ได้ นอกจากนี้ การได้รับยาผิดประเภทก็อาจทำให้เด็กพิการตลอดชีวิตได้
  • พันธุกรรม เด็กมีโอกาสได้รับยีนของลักษณะพิการหรือบกพร่องจากพ่อแม่ โดยเด็กอาจมีลักษณะตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาตั้งแต่กำเนิด
  • การติดเชื้อ เมื่อเด็กติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลง ส่งผลให้เด็กมีความอ่อนแอต่อเชื้อโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสคางทูม (Mumps) ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางการได้ยิน หรือเป็นโรคโปลิโอ
  • ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ (Endocrine glands) ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อสามารถทำให้เกิดความผิดปกติทางร่าง กายและสติปัญญา เช่น หากต่อมไทรอยด์ (Thyroid) ของเด็กทำงานผิดปกติก็อาจก่อให้เกิดโรคเอ๋อหรือภาวะปัญญาอ่อนได้


พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างไร?

หลังจากที่ลูกได้รับการวินิจฉัยว่ามีความต้องการพิเศษ พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจมีความรู้สึกต่างๆนานา และอาจมีปฏิกิริยาต่อความจริงที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ อาจมีผู้ปกครองบางคนที่รู้สึกโล่งใจ เมื่อได้ทราบถึงลักษณะความผิดปกติของลูก เพื่อที่จะได้ให้การดูแลได้อย่างเหมาะสม แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ปกครองมักแสดงออกถึงความเศร้า โกรธ สับสน หรือรู้สึกผิด จนกระ ทั่งถึงจุดที่ครอบครัวสามารถยอมรับความจริงได้ และเริ่มการวางแผนสำหรับอนาคต ทั้งนี้ ไม่ว่าพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไรต่อสภาพความผิดปกติของลูก ทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนแต่เป็นความรู้สึกปกติที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องให้เวลาแก่ตัวเองในการก้าวผ่านความรู้สึกเหล่านั้น พร้อมกับหาหนทางในการช่วยเหลือทั้งตนเองและลูกอย่างเร่งด่วน โดยยึดหลักตามข้อเสนอแนะต่อไปนี้

  • เข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการ (Early Intervention) ทันทีหลังจากที่ลูกได้รับการวินิจฉัยว่ามีความพิการหรือมีความต้อง การพิเศษ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ยิ่งพ่อแม่พาลูกเข้ารับบริการเร็วเท่าใดโอกาสที่เด็กจะสามารถมีพัฒนาการได้เทียบเท่ากับเด็กทั่วไปหรือใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถได้รับความรู้และคำแนะนำอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพัฒนาการของลูก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา หรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมต่อลักษณะความบกพร่องของลูก
  • ศึกษาข้อมูลอันเกี่ยวข้องกับลักษณะความบกพร่องของลูกให้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะยิ่งพ่อแม่รู้มาก ย่อมหมายถึงความพร้อมที่มากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังทำให้พ่อแม่มีหลักในการรับมือกับอนาคตอีกด้วย
  • เข้าร่วมกับกลุ่มช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นการทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่โดดเดี่ยวและมีกำลังใจที่จะช่วยเหลือลูกมากยิ่งขึ้น
  • หมั่นสังเกต ให้ความสนใจ และสนับสนุนสิ่งที่ลูกทำได้ดี พร้อมทั้งตระหนักอยู่เสมอว่า ความบกพร่องของลูกไม่ได้กำหนดสิ่งที่ลูกเป็น แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตของลูก ไม่ต่างกันกับสีของตาหรือลักษณะเส้นผม
  • พาลูกเข้ารับการรักษาที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) กาย ภาพบำบัด (Physical therapy) การแก้ไขการพูด (Speech therapy) หรือพฤติกรรมบำบัด (Behavioral therapy)
  • จดบันทึกเกี่ยวกับลูก เพราะผู้ปกครองคือผู้ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด และย่อมเป็นผู้ที่รู้จักลูกมากที่สุด การจดบันทึกของพ่อแม่ นอกจากจะทำให้เห็นพัฒนาการของลูกแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงครูที่จะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือลูกด้วย
  • พูดคุยกับคนในครอบครัวถึงความรู้สึกของตัวพ่อแม่เอง รวมถึงเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวพูดถึงความรู้สึกของตน เองอย่างเปิดเผยเช่นกัน พี่หรือน้องของลูกอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการพิเศษของเด็กที่มีความบกพร่อง และอาจมีปัญหาในการอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรปรับความเข้าใจของคนในครอบครัวให้ตรงกัน
  • สร้างกิจวัตรที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวที่เอื้อต่อลูกที่มีความต้องการพิเศษ
  • ส่งเสริมให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง (self-determination) เนื่องจากความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเองถือเป็นคุณ สมบัติที่สำคัญสำหรับเด็กทุกคน โดยมีงานวิจัยระบุว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มีความสามารถในการตัดสินใจสูง มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการจ้างงาน มีความพอใจในชีวิต และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องได้รับความช่วย เหลือจากครอบครัว ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถช่วยพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจของลูกได้ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก เช่น อยากใส่ชุดไหน หรืออยากรับประทานอะไร เป็นต้น
  • ไม่ปกป้องลูกมากจนเกินไป พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกออกไปพบอะไรใหม่ๆ หรือออกไปเรียนรู้โลกภายนอกเมื่อมีโอกาส
  • สอนลูกให้แก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหาให้ลูก โดยการให้ลูกเลือกวิธีการในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เช่น หากลูกมีปัญหาที่โรงเรียน พ่อแม่ควรทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับฟัง และชักชวนให้ลูกคิดหาทางออกของปัญหาร่วมกัน หรืออาจเปิดโอกาสให้ลูกลองวางแผนการแก้ปัญหาด้วยตัวเองเมื่อลูกมีความพร้อม